" บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชาอินเตอร์และการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม "

^______^ ขอบคุณ สำหรับการติดตาม ...

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

วิตามินเม็ด ปลอดภัยจริงหรือไม่ ?

วิตามินเม็ด กินทำไม ปลอดภัยจริงหรือ? (หมอชาวบ้าน)


         ถ้าลองถามผู้ที่กินวิตามินเม็ดอยู่ทุกวันว่า กินทำไมกันก็ได้รับคำตอบว่า กินแล้วรู้สึกสบายดีบ้าง กินได้นอนหลับดีบ้าง กินบำรุงให้แข็งแรงขึ้น ความจำดีขึ้นบ้าง คนโน้นบอกว่าดี คนนี้ก็บอกว่าดี เลยกินตาม ๆ กัน


         ถามต่อว่ากินอยู่ทุกวันไม่กลัวอันตรายหรือ (ทีกินยาทุกวันกลัวว่ายาจะสะสม ตับไตจะพัง) ก็มักจะได้คำตอบว่า วิตามินเม็ดทำมาจากธรรมชาติจากอาหารปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ กินอาหารได้สารอาหารไม่ครบต้องกินเสริมให้แข็งแรงป้องกันโรคกิน 1 เม็ดเท่ากับกินผักผลไม้เป็นกิโล ๆ แน่ะกินแล้วไม่เห็นเป็นไรก็สบายดีนี่


         มีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพมากกว่า 1 การศึกษาบอกว่า วิตามินหลาย ๆ ตัวที่กินกันอยู่ไม่ได้ผลในการป้องกันมะเร็ง โรคหัวใจหลอดเลือด สมองเสี่อมไม่ได้ทำให้อายุยืนยาวขึ้นหรืออื่น ๆ เราจะยังกินหรือไม่? มีการศึกษาหลายการศึกษาบอกว่าวิตามินบางตัวที่เรา ๆ ท่าน ๆ กินกันอยู่เพิ่มโอกาสเสียชีวิตมากกว่า ไม่ได้กินเราจะยังกินต่อหรือเปล่า?


         เราใช้ความ "รู้" หรือความ "รู้สึก" ในการบอกว่าจะกินหรือไม่กินดี
วิตามินเอ วิตามินอี และบีตาแคโรทีน อาจเพิ่มโอกาสเสียชีวิต (Bjelakovic G. JAMA 2007;842-57)


          การรวบรวมการศึกษาไปข้างหน้าแบบสุ่ม (randomized trials) 68 การศึกษา จากประชาการ 2 แสน 3 หมื่นกว่าคน (ทั้งคนปกติและเป็นโรคแล้ว) เพื่อดูว่าผลของการกินวิตามินเม็ด หรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัดต่อการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับไม่ได้กิน หรือกินวิตามินหลอก (รูปลักษณ์เหมือนวิตามินเม็ดทุกอย่าง แต่ไม่มีวิตามินอยู่เพื่อผู้ทำวิจัยเก็บข้อมูลและผู้ป่วยจะไม่ทราบ ป้องกันการลำเอียงหรืออุปาทาน ในการเลือกให้วิตามินเม็ดและการแปลผล) ถ้ารวมการศึกษาทั้งลำเอียงมากและน้อย (high and low-bias trials) ไม่พบความแตกต่างในโอกาสเสียชีวิตของผู้ที่กินหรือไม่กินวิตามินเม็ด หรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัด 


         แต่ถ้าดูเฉพาะการศึกษาที่มีคุณภาพการศึกษาที่ดี (ความลำเอียงน้อย) 47 การศึกษาในประชากร 1 แสน 8 หมื่นกว่าคนพบว่าการกินบีตาแคโรทีนในการศึกษา 6 การศึกษาเพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 6 (95% CI 1.01-1.11) การกินวิตามินเอเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับอาหารเสริมอื่น ยกเว้นซีลีเนียม (5การศึกษา) เพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 16 (95% CI 1.10-1.24) และการกินวิตามินอี (26 การศึกษา) ก็เช่นเดียวกับวิตามินเอคือเพิ่มโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 4 (95% CI 1.01-1.07)




วิตามินอีไม่ช่วยในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด (Vivekananthan DP, Lancet 2003;361:2017)
         ตำราโรคหัวใจเล่มล่าสุด (Braunwald’s Heart Disease) ได้ตีพิมพ์ข้อสรุปจากการศึกษาแบบสุ่ม 7 การศึกษา ในประชากร 8 หมื่นกว่าคนพบว่าการกินวิตามินอีไม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (กลุ่มที่กินเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 11.3 กลุ่มควบคุม (ไม่ได้กิน) เกิดร้อยละ 11.1)


         ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนกินวิตามินรวม ไม่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากมะเร็งโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือการเสียชีวิต (Neuhouser ML. Arch Intern Med 2009;169:294-304) การศึกษา Women’s Health Initiative เป็นการศึกษาในหญิงอเมริกัน 1 แสน 6 หมื่นกว่าคนทั้งในการวิจัยทางคลินิกและการติดตามระยะยาวประมาณ 8 ปี พบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินวิตามินรวม ไม่ว่าจะกินวิตามินรวมเดี่ยว วิตามินรวมร่วมกับเกลือแร่ (เช่น แคลเซียม) หรือวิตามินรวมในขนาดสูง (สูงกว่าร้อยละ ๒๐๐ ของระดับที่แนะนำ) ไม่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง (ที่พบบ่อย) โรคหัวใจและหลอดเลือดและไม่มีผลต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ


         คำแนะนำของสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ปี พ.ศ.2549 (Circulation 2006;114:82-96) แม้ว่าวิตามินเม็ดหรือสารต้านอนุมูลอิสระสกัดเช่น วิตามินอี บีตาแคโรทีน ซีลีเนียม ไม่แนะนำให้กินแต่แนะนำให้กินอาหารจากพืชแทน (เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดขาว น้ำมันพืชที่มีวิตามินดังกล่าว)


หญิงวัยหมดประจำเดือน กินวิตามินดีและแคลเซียมเป็นประจำ ไม่ลดโอกาสกระดูกหัก แต่อาจเพิ่มนิ่วในไต (Jackson RD.N Engl J Med 2006;354:669-83) 
         การศึกษาหญิงวัยหมดประจำเดือนมากกว่า 36,000 คน สุ่มแบ่งให้กินวิตามินดี 400 หน่วยมาตรฐานและแคลเซียม 1 กรัมหรือกินยาหลอกทุกวัน เป็นเวลา 7 ปี พบว่าการกินวิตามินดีและแคลเซียมเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกสะโพกแต่ไม่ลดโอกาศกระดูกสะโพกหักและเพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในไตประมาณร้อยละ 17 นอกจากนี้การกินวิตามินดีและแคลเซียมไม่ช่วยลดโอกาสเสียชีวิตหรือไม่ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็งที่พบบ่อย ดังนั้นหญิงวัยหมดประจำเดือนไม่ควรกินแคลเซียมและวิตามินดีเสริมกระดูกควรจะตรวจมวลกระดูกก่อนว่ากระดูกบางหรือยัง 


         แล้วขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเพิ่มมวลกระดูก เช่น งดกาแฟ (ทุก ๆ 1 แก้วที่ดื่มกาแฟดึงแคลเซียมออกจากร่างกายประมาณ 40 มิลลิกรัม) งดน้ำอัดลมเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าหรือชาชง (ใบชาชงด้วยน้ำร้อนไม่ใช่ชาขวด ชากระป๋อง อย่างที่ขายกันอยู่) หยุดยาไทรอยด์บางชนิดและให้กินกะปิ ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้งที่มีแคลเซียมเพิ่มในอาหาร ออกกำลังกาย เดินยกน้ำหนัก เพิ่มแรงกดบนกระดูกที่บาง เพื่อกระตุ้นให้แคลเซียมไปสะสมอยู่ที่กระดูกที่ใช้งาน (ยิ่งใช้ยิ่งแข็งแรงยิ่งไม่ใช้ยิ่งเสื่อมโทรม) ตากแดดอ่อน ๆ ตอนเช้า เย็น 15 นาทีต่อวันเพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี วิตามินดีจะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่กิน ร้อยละ 80 ของวิตามินในร่างกายเราสร้างจากผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดที่เหลือได้จากอาหารเช่น ไขมันปลา นม ธัญพืช ส่วนการกินแคลเซียมและวิตามินดีเสริม ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เพื่อป้องกันผลเสียในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น

         สรุป


         "วิตามิน" เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็เกิดโทษได้เหมือนกันการกินตาม "ธรรมชาติ" จะได้ประโยชน์มากกว่าและโทษน้อยกว่าการกินแบบ "ปรุงแต่ง" โดยสกัดเป็นเม็ดหรืออาหารเสริมวิตามินเม็ดที่มีวิตามินเอ อี และบีตาแคโรทีนเป็นส่วนประกอบควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรกินในระยะยาว ส่วนการกินวิตามินดีและแคลเซียมควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้กินในระยะยาว


ที่มา : http://health.kapook.com/view13197.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น